กระทรวงดีอีเตือนอย่าเชื่อ-แชร์ ข่าวปลอม “ผู้พิการที่ทำบัตรผู้พิการหลัง 31 ส.ค.67 จะไม่ได้รับสิทธิ์เงินดิจิทัล 10,000 บาท” หวั่นกระทบสังคม

กระทรวงดีอีเตือนอย่าเชื่อ-แชร์ ข่าวปลอม “ผู้พิการที่ทำบัตรผู้พิการหลัง 31 ส.ค.67 จะไม่ได้รับสิทธิ์เงินดิจิทัล 10,000 บาท” หวั่นกระทบสังคม

     นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 20 – 26 กันยายน 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 842,624 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 310 ข้อความ ช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 294 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 16 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 232 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 107 เรื่อง ทั้งนี้ กระทรวงดีอี ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย
   กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 103 เรื่อง
   กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 50 เรื่อง
   กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 40 เรื่อง
   กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 5 เรื่อง
   กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 34 เรื่อง
          โดยเมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่าเป็นข่าวนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ หน่วยงานและโครงการของรัฐ โดยเฉพาะโครงการโอนเงิน 10,000 ให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและบัตรคนพิการ ข่าวผลิตภัณฑ์สุขภาพ และสุขภาพของประชาชน ซึ่งเป็นข่าวที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่
   อันดับที่ 1 : เรื่อง ผู้พิการที่ทำบัตรผู้พิการหลัง 31 ส.ค. 67 จะไม่ได้รับสิทธิ์เงินดิจิทัล 10,000 บาท
   อันดับที่ 2 : เรื่อง Up5 Sure Digestion ช่วยรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร ป้องกันมะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งลำไส้
   อันดับที่ 3 : เรื่อง ดื่มเบียร์ช่วยรักษาโรคความดันต่ำ
   อันดับที่ 4 : เรื่อง บัตร 10 ปีที่ต่างด้าวได้รับ ถูกจำหน่ายออกจากระบบ
   อันดับที่ 5 : เรื่อง ภายใน 25 วัน จะเกิดสึนามิฝั่งอ่าวไทย คลื่นสูง 14-20 เมตร
   อันดับที่ 6 : เรื่อง 5 วิธีปฏิบัติ เลี่ยงการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
   อันดับที่ 7 : เรื่อง อำเภอละงูฝนตกน้ำท่วม แต่น้ำทะเลลดลงผิดปกติ เฝ้าระวังการเกิดสึนามิ
   อันดับที่ 8 : เรื่อง ลุกจากที่นอนกะทันหัน ทำให้กระดูกกะโหลกศีรษะแตก หัวใจหยุดเต้น
   อันดับที่ 9 : เรื่อง 10 อาหารป้องกันการติดเชื้อไวรัสและไซนัสเรื้อรัง
   อันดับที่ 10 : เรื่อง เปิดโทรศัพท์มือถือเวลา 00:30-03:30 น. รังสีคอสมิกเข้าใกล้โลก ทำให้ร่างกายเกิดอันตราย
     “เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับข้างต้น พบว่าเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับโครงการตามนโยบายของรัฐบาล หน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะโครงการโอนเงิน 10,000 ให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและบัตรคนพิการ ข่าวเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ และสุขภาพของประชาชน รวมทั้งข่าวที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ ซึ่งทั้งหมดมีผลกระทบต่อประชาชน อาจเกิดความเสียหาย การเข้าใจผิด เกิดเป็นความวิตกกังวลให้กับประชาชนเป็นวงกว้าง หากมีการแชร์ส่งต่อกันไปในสังคม” นายเวทางค์ กล่าว
           สำหรับข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนอันดับ 1 เรื่อง ผู้พิการที่ทำบัตรผู้พิการหลัง 31 ส.ค.2567 จะไม่ได้รับสิทธิ์เงินดิจิทัล 10,000 บาท พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ กระทรวงดีอีได้ประสานงานกับสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ตามที่ครม.มีมติเห็นชอบเงินที่จะมอบให้พี่น้องประชาชนกลุ่มเปราะบาง รายละ 10,000 บาท รัฐบาลได้ขยายเวลาลงทะเบียนให้กับคนพิการทุกคนทั่วประเทศ ไปจนถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2567 โดยผู้พิการที่ทำบัตรผู้พิการหลัง 31 สิงหาคม 2567 ยังสามารถทำเรื่องลงทะเบียนได้จนถึงวันเวลาที่กำหนด ดังนั้น ขอเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ โดยหากประชาชนสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โทร. 1300 หรือเว็บไซต์ https://www.m-society.go.th   ด้านข่าวปลอม อันดับ 2 เรื่อง “Up5 Sure Digestion ช่วยรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร ป้องกันมะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งลำไส้” พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ กระทรวงดีอีได้ประสานงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข พบว่า กรณีการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์ Up5 Sure เป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ หรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่ง อย. จะดำเนินการตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ต่อไป โดยหากประชาชนสนใจข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หรือหากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1556
           อย่างไรก็ตาม กระทรวงดีอีมีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้น จึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด โดยสามารถแจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.) ,  Line ID: @antifakenewscenter , เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com
                               -------------------------------

By: วัฒนรินทร

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

14 ปี กรมหม่อนไหม สืบสานภูมิปัญญา พัฒนาสู่ความยั่งยืน

สวก. เตรียมโชว์งานวิจัยเด่น 6 เมกะเทรนด์เปลี่ยนโลก 20 - 21 พ.ย.นี้ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ม.เกริกมอบโล่เกียรติคุณเชิดชูเกียรติ “นักการเมืองดีเด่นยอดเยี่ยม ประจำปี 2567”