อย. พร้อมขึ้นทะเบียนชุดตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อก่อโรคฝีดาษวานร เพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมการแพร่ระบาด

อย. พร้อมขึ้นทะเบียนชุดตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อก่อโรคฝีดาษวานร เพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมการแพร่ระบาด


     เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ภายหลังองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้โรคฝีดาษวานรเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงได้เตรียมความพร้อมในการขึ้นทะเบียนชุดตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อฝีดาษวานร (MPOX) เพื่อรองรับสถานการณ์ โดยจัดทำแนวทางการประเมินด้านคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยของชุดตรวจวินิจฉัยฝีดาษวานร มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าชุดตรวจสามารถจัดเตรียมเอกสารที่จำเป็นได้อย่างถูกต้องและสอดคล้องกับข้อกำหนด เช่น รายงานการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัย มาตรฐานที่อ้างอิง ทำให้กระบวนการขึ้นทะเบียนเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการวินิจฉัยโรคได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว ทั้งนี้ อย. ได้มีการขึ้นทะเบียนชุดตรวจการติดเชื้อฝีดาษวานร โดยสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์ได้ทาง https://medical.fda.moph.go.th/


       การมีชุดตรวจที่มีคุณภาพมาตรฐานในประเทศ จะช่วยลดภาระด้านสาธารณสุขในระยะยาว ด้วยการควบคุมและยับยั้งการแพร่ระบาดได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งการตรวจพบและรักษาได้อย่างรวดเร็วจะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ ป้องกันการแพร่กระจายของโรคสู่ชุมชน ทำให้ระบบสาธารณสุขของไทยมีความมั่นคงและพร้อมรับมือกับสถานการณ์โรคฝีดาษวานรในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ อย. โดยศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพเบ็ดเสร็จได้เปิดจุดบริการเฉพาะสำหรับรองรับการขึ้นทะเบียนชุดตรวจ เพื่อให้การบริการขึ้นทะเบียนเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็ว สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กองควบคุมเครื่องมือแพทย์ของ อย.  https://medical.fda.moph.go.th/press-release/newsmpox/ หรือทาง QR Code ตามภาพในข่าวนี้ 

                               -------------------------------------

By: วัฒนรินทร

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

14 ปี กรมหม่อนไหม สืบสานภูมิปัญญา พัฒนาสู่ความยั่งยืน

สวก. เตรียมโชว์งานวิจัยเด่น 6 เมกะเทรนด์เปลี่ยนโลก 20 - 21 พ.ย.นี้ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ม.เกริกมอบโล่เกียรติคุณเชิดชูเกียรติ “นักการเมืองดีเด่นยอดเยี่ยม ประจำปี 2567”