สั่ง สมอ.เร่งผลักดันอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมศักยภาพ หลังให้การรับรองมาตรฐานห้องแล็บระดับสากล
สั่ง สมอ.เร่งผลักดันอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมศักยภาพ หลังให้การรับรองมาตรฐานห้องแล็บระดับสากล
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ทั้ง First S-curve และ New S-curve ที่มีศักยภาพในการเติบโตและสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่ได้มีการหารือกับนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา และมีความเห็นตรงกันในการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพ ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมป้องกันประเทศในอันดับต้นๆ ของอาเซียน กระทรวงอุตสาหกรรมจึงเล็งเห็นถึงโอกาสในการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยกำหนดผลิตภัณฑ์เป้าหมายที่มีศักยภาพเบื้องต้นนำร่อง 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มยานพาหนะรบ 2) กลุ่มอุตสาหกรรมต่อเรือ 3) กลุ่มอากาศยานไร้คนขับ และ 4) กลุ่มอาวุธและกระสุนปืนสำหรับการป้องกันประเทศและกีฬา การยกระดับอุตสาหกรรมดังกล่าว จำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการมาตรฐาน เช่น ห้องแล็บสำหรับทดสอบผลิตภัณฑ์ เพื่อให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของสากล รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักกติกาสากลที่ทั่วโลกให้การยอมรับ ล่าสุด สมอ.ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการรับรองห้องแล็บระหว่างประเทศที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ได้ให้การรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบ ตามมาตรฐาน มอก. 17025-2561 หรือ ISO/IEC 17025 : 2017 แก่หน่วยงานใน 3 อุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ คือ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ 2) อุตสาหกรรมปิโตรเลียม คือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และ 3) อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ คือ บริษัท วชิรแล็บเพื่อสังคม จำกัด จึงทำให้ห้องแล็บที่ได้รับการรับรองจาก สมอ. ได้รับความเชื่อมั่นและเชื่อถือในระดับสากลด้วยเช่นกัน
ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. ได้มอบใบรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบ ตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 : 2017 ให้แก่ 3 หน่วยงาน ได้แก่ 1) สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เป็นองค์การมหาชนสังกัดกระทรวงกลาโหม ที่มีภารกิจด้านการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ได้รับการรับรองในสาขาโยธาและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยนำผลทดสอบไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาวุธปืน กระสุน แผ่นเกราะ กระจกกันกระสุน โล่นิรภัย รถกันกระสุน เส้นใยป้องกันการติดไฟ อากาศยานไร้คนขับ เป็นต้น 2) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจสำรวจ พัฒนา และ ผลิตปิโตรเลียม เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ได้รับการรับรองในสาขาปิโตรเลียม โดยนำผลทดสอบไปใช้ประกอบในการสำรวจแหล่งปิโตรเลียม และการวิจัยเพื่อเพิ่มอัตราการผลิตน้ำมัน และ 3) บริษัท วชิรแล็บเพื่อสังคม จำกัด เป็นบริษัทที่ร่วมทุนระหว่างมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ให้บริการวิเคราะห์ สุ่มตรวจ และรับรองอุปกรณ์ทางการแพทย์ ในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม ได้รับการรับรองในสาขาวัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ สำหรับการทดสอบหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว และหน้ากากใช้ครั้งเดียวชนิด N95 โดยนำผลทดสอบไปใช้เพื่อการผลิตหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์การแพทย์ที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ การได้รับการรับรองจะช่วยให้ผู้ประกอบการ สามารถลดต้นทุนและลดระยะเวลาในการทดสอบ เพราะไม่ต้องส่งสินค้าไปทดสอบซ้ำอีกในต่างประเทศ เนื่องจาก สมอ.ได้ลงนามในข้อตกลงการยอมรับร่วม (Mutual Recognition Arrangement : MRA) กับองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองห้องปฏิบัติการ ซึ่งมีประเทศสมาชิกที่ลงนามในข้อตกลงการยอมรับร่วม จำนวน 118 ประเทศ จึงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งเป็นการเพิ่มโอกาสในการเจรจาต่อรองทางการค้าของผู้ประกอบการไทยด้วย
-------------------------------
By: วัฒนรินทร
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น