สธ.ชวนเที่ยวงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติฯ ครั้งที่ 21 หนุนนวดไทย สปาไทย สมุนไพรไทย ออกสู่เวทีโลก

สธ.ชวนเที่ยวงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติฯ ครั้งที่ 21 หนุนนวดไทย สปาไทย สมุนไพรไทย ออกสู่เวทีโลก ณ ฮอลล์ 11 – 12 อิมแพค เมืองทองธานี 3 - 7 ก.ค.นี้

      นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังแถลงการจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติฯ ครั้งที่ 21 ณ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ภายใต้แนวคิด “นวดไทย สปาไทย สมุนไพรไทย สู่เวทีโลก” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 - 7 กรกฎาคม 2567 ฮอลล์ 11 – 12 อิมแพค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ว่า การจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติฯ เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ที่มุ่งยกระดับการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยให้มีศักยภาพในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับนานาชาติ และยังสอดรับกับนโยบาย IGNITE THAILAND ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมและบริการทางการแพทย์อย่างครบวงจร ซึ่งปัจจุบัน ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรของไทยมีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน และเป็นอันดับที่ 4 ของเอเชีย และตามเป้าหมายของแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2566 –2570   ในปี 2570 ตลาดของผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 104,000 ล้านบาท  ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ส่งเสริมพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจร โดยในส่วนของต้นน้ำ มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกสมุนไพรจาก 18,000 ไร่ เป็น 1,059,818 ไร่ เกษตรกรปลูกสมุนไพรเพิ่มขึ้นจาก 5,400 ราย เป็นกว่า 360,000 ราย ส่วนกลางน้ำ มีโรงงานภาคเอกชนผลิตยาสมุนไพร ประมาณ 1,000 แห่ง โรงงานสกัด 11 แห่ง และโรงพยาบาลที่ผลิตยาสมุนไพรตามมาตรฐาน WHO GMP ทั่วประเทศ 46 แห่ง คิดเป็นมูลค่าการใช้ยาสมุนไพรในระบบบริการสุขภาพทั่วประเทศ เฉลี่ยปีละ 1.5 พันล้านบาท และ ส่วนปลายน้ำ ในปี 2566 ผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศมีมูลค่า 56,944 ล้านบาท มีการส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรมากขึ้น โดยพัฒนาต่อยอดสมุนไพรแชมเปี้ยน 12 รายการ มีผลงานวิจัยมากกว่า 141 โครงการ เพิ่มมูลค่าการส่งออกได้กว่า 6,604 ล้านบาท และยังเพิ่มการลงทุนเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมเป็น 3,631 ล้านบาท  โดยเป็นการวิจัยพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจร กว่า 1,295 โครงการ

          ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขยังส่งเสริมให้มี “ศูนย์เวลเนสอัตลักษณ์ไทย” (Thainess Wellness Destination) ที่นำอัตลักษณ์ความเป็นไทย อัตลักษณ์เฉพาะถิ่น องค์ความรู้การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน สมุนไพรและการแพทย์ทางเลือก มาเชื่อมโยงกับธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ 5 ประเภท ได้แก่ 1) ที่พักนักท่องเที่ยว 2) ภัตตาคารหรือร้านอาหาร 3) นวดเพื่อสุขภาพ 4) สปาเพื่อสุขภาพ และ 5) สถานพยาบาล ปัจจุบันมีศูนย์เวลเนสอัตลักษณ์ไทยที่ผ่านการรับรองทั่วประเทศแล้ว 73 แห่ง และในปี 2567 นี้ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้ขับเคลื่อนโครงการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มจากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทยการแพทย์ทางเลือก เดินหน้าให้มีแหล่งท่องเที่ยวที่ผ่านการประเมินครอบคลุม 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ และสนับสนุนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพภูมิปัญญาไทยและสมุนไพรที่ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 94 แห่ง ไปสู่ชุมชนสุขภาพดี เพื่อให้เป็นที่รู้จักและรองรับนักท่องเที่ยว โดยมีเป้าหมายไม่น้อยกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับชุมชนเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท

        ขณะที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า งานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติฯ ครั้งที่ 21 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 - 7 กรกฎาคม 2567 ที่ ฮอลล์ 11 – 12 อิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ภายใต้แนวคิด “นวดไทย สปาไทย สมุนไพรไทย สู่เวทีโลก” เพื่อแสดงคุณค่าและขีดความสามารถในการแข่งขันของสมุนไพรทั้งในและต่างประเทศ ให้คนไทยและคนทั่วโลกมั่นใจในผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศไทย โดย ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด วันที่ 3 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00 น.


            สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย 6 โซน ได้แก่ โซนวิชาการ มีการประชุมและการประกวดผลงานด้านแพทย์แผนไทยฯ โซน Service มีคลินิกให้คำปรึกษา ตรวจรักษาโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยฯ และคลินิกบำบัดยาเสพติด โซน Wisdom พบหมอไทยดีเด่นแห่งชาติ หมอพื้นบ้าน 4 ภูมิภาค การนวดอัตลักษณ์ไทยและสมุนไพรอัตลักษณ์จาก 76 จังหวัด โซน Product ให้คำปรึกษาเรื่องการส่งออกและภาพรวมตลาดสมุนไพร โซน Wellness ให้บริการนวดไทย โชว์โมเดลสปาเพื่อสุขภาพ อาหารเพื่อสุขภาพ และผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพกว่า 300 ร้านค้า และโซน Innovation ให้คำปรึกษา นวัตกรรมและวิจัยพัฒนา การจัดแสดงผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมต้นแบบ ตลอดจนการอบรมหลักสูตรระยะสั้นและตลาดความรู้ แจกต้นพันธุ์และเมล็ดพันธุ์สมุนไพรฟรี วันละ 1,000 ชิ้น และการเรียนรู้สวนสมุนไพรและสมุนไพรหายากภายในงาน เป็นต้น ซึ่งตลอด 5 วันของการจัดงานคาดว่าจะมีเงินสะพัดมากกว่า 300 ล้านบาท

                         ------------------------------

By: วัฒนรินทร

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

14 ปี กรมหม่อนไหม สืบสานภูมิปัญญา พัฒนาสู่ความยั่งยืน

สวก. เตรียมโชว์งานวิจัยเด่น 6 เมกะเทรนด์เปลี่ยนโลก 20 - 21 พ.ย.นี้ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ม.เกริกมอบโล่เกียรติคุณเชิดชูเกียรติ “นักการเมืองดีเด่นยอดเยี่ยม ประจำปี 2567”