ก.อุตสาหกรรมเปิดบูธศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย
ก.อุตสาหกรรมเปิดบูธศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย ในงาน THAIFEX-Anuga Asia 2024 พร้อมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่ Halal Hub ของภูมิภาค
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดบูธศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย ในงาน THAIFEX-Anuga Asia 2024 พร้อมเปิดเผยว่า กระทรวงฯ เตรียมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค ผ่านการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย การจัดตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ และยกระดับศักยภาพด้านมาตรฐานของผู้ประกอบการฮาลาลในประเทศ โดยในงานวันนี้กระทรวงฯนำผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และมีศักยภาพพร้อมส่งออก เข้าร่วมออกแสดงสินค้าภายใต้บูธของศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทยและกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยมีประมาณการมูลค่าการเจรจาจับคู่ธุรกิจภายในงานกว่า 200 ล้านบาท และหลังจากนี้กระทรวงฯ จะส่งเสริมให้ขยายการส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพทั่วโลก ทั้งนี้ ตลาดสินค้าฮาลาลมีขนาดใหญ่และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ปัจจุบันตลาดสินค้าฮาลาลโลกมีมูลค่ารวมกว่า 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2568 ครอบคลุมสินค้าและบริการที่หลากหลาย ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง แฟชั่น การท่องเที่ยว โดยกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มมีสัดส่วนสูงสุดถึงร้อยละ 63 ของมูลค่าตลาดทั้งหมด สำหรับตลาดอาหารฮาลาลโลกมีมูลค่าประมาณ 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2 เท่าภายใน 5 ปี โดยมีแนวโน้มขยายตัวเร็วตามจำนวนประชากรมุสลิมโลกที่แนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมฮาลาล อย่างมาก และมีนโยบายที่จะยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลให้เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ โดยมอบกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้เร่งดำเนินการขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทยให้มีความแข็งแกร่งอย่างรอบด้านและสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก ผ่านกลไกสำคัญ ดังนี้
1. จัดตั้ง “คณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.)” ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และได้มอบหมาย ดร.นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย รับผิดชอบภารกิจที่เกี่ยวกับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นรองประธาน พร้อมผู้แทนจากหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในแวดวงฮาลาลไทย อีก 21 หน่วยงาน เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันภายใต้การกำกับของกระทรวงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนาสินค้าฮาลาล โดยเชื่อมโยงเอกลักษณ์ Soft Power ของไทย รวมถึงบูรณาการแนวทาง มาตรการ แผนงาน ด้านการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ ให้เกิดการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ และผลักดันประเทศไทยให้เป็นผู้นำด้านการผลิตและการส่งออกสินค้าฮาลาลในภูมิภาค
2. เสนอ “แนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค” ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 และมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว โดยในระยะ 1 ปีแรก หรือ Quick Win กระทรวงอุตสาหกรรมเน้นขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทยใน 3 ภารกิจหลัก ได้แก่
1) จัดตั้ง “ศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย” เพื่อสร้างกลไกสนับสนุน Ecosystem ของอุตสาหกรรมฮาลาลไทย โดยมีภารกิจในการยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ ควบคู่กับมาตรฐานสินค้าฮาลาลและมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการค้าอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งในและระหว่างประเทศ รวมถึงทำหน้าที่เป็น National Focal Point ในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ ขณะนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการพิจารณายกระดับศูนย์ดังกล่าวเป็น “สถาบันอุตสาหกรรมฮาลาลไทย” หรือ Thai Halal Industry Institute โดยเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงฯ ซึ่งจะเร่งดำเนินการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาโดยเร็วต่อไป
2) สร้าง “การรับรู้ถึงศักยภาพอุตสาหกรรมฮาลาลไทย” ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ผ่านงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ เช่น Malaysia International Halal Showcase (MIHAS) รวมถึง THAIFEX-Anuga Asia 2024 ในวันนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลไทยของรัฐบาล และสร้างภาพลักษณ์อาหารไทยฮาลาลที่เชื่อมโยง Soft Power เอกลักษณ์อาหารท้องถิ่นให้เกิดเป็นเมนูอาหารฮาลาลไทย ผลักดันไปสู่ภาคบริการ เช่น การให้บริการบนสายการบิน การประชุมและสัมมนานานาชาติ การโรงแรมและท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างเตรียมจัดงาน Kick Off การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ในวันที่ 19 มิถุนายน 2567 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อแสดงศักยภาพการผลิตและมาตรฐานอุตสาหกรรมฮาลาลไทยไปสู่ผู้บริโภคและคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศ ผ่านการจัดกิจกรรม เช่น Business Matching การสัมมนาฮาลาลระดับนานาชาติ การสาธิตการทำอาหารฮาลาลโดยเชฟไทยที่มีชื่อเสียง
3) ผลักดัน “การส่งเสริมการค้าและขยายตลาดการค้าระหว่างประเทศ” ผ่านการเจรจาและจัดทำกรอบความร่วมมือ หรือ MOU ระหว่างประเทศระดับทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาลของไทย โดยประเทศเป้าหมายในระยะแรก ได้แก่ บรูไนดารุสซาราม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อให้อุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทยมีความเข้มแข็งตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิต โดยขณะนี้มีแผนการเจรจาในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทวิภาคี ไทย-บรูไน ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไน ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2567 และในการประชุมระดับรัฐมนตรี แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ณ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน 2567
นอกจากนี้ การขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย ในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2567-2571) จะดำเนินอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาการผลิตและมาตรฐานอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ให้กับผู้ประกอบการทุกกลุ่ม เช่น อาหาร แฟชั่นมุสลิม ยา สมุนไพร และเครื่องสำอาง วิสาหกิจชุมชน ร้านอาหาร โรงแรมและที่พัก รวมถึงการขนส่งและโลจิสติกส์ ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและขยายกลุ่มประเทศเป้าหมายไปยังเอเชียกลาง ตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ ควบคู่การยกระดับ Thai Halal Ecosystem ด้านอื่นๆ เช่น การพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทย ให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์สินค้าและเพียงพอ การยกระดับฝีมือแรงงานและบุคลากรในอุตสาหกรรมฮาลาลสาขาต่างๆ การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมฮาลาล การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคการส่งออกและเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของสินค้าและบริการฮาลาลไทยในตลาดโลก ซึ่งจะเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยต่อไป
สำหรับงานในวันนี้ กระทรวงฯ ได้นำผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและสถาบันอาหารกว่า 40 รายเข้าร่วมแสดงสินค้า เช่น โรงงานแปรรูปโคเนื้อฮาลาลมาตรฐานสากลที่มีศักยภาพดีที่สุดในอาเซียน “Befish” ข้าวเกรียบปลาเมืองนราธิวาส ทำจากปลาทะเลแท้ มีแคลเซียมสูง และ “ท่าทองรังนก” ที่เลี้ยงอย่างธรรมชาติไม่ใช้สารเคมีวัตถุเจือปนอาหาร เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพพร้อมส่งออก และมีการสาธิตการทำอาหารจากเชฟนูรอ โซ๊ะมณี สเต็ปเป้ เชฟอาหารไทยมุสลิม ผู้ก่อตั้งและเจ้าของร้าน “Blue Elephant” ร้านอาหารไทยชื่อดังที่มีสาขาทั่วโลก เพื่อสร้างความรับรู้ถึงศักยภาพของอาหารฮาลาลไทยและนำเสนอผลิตภัณฑ์ฮาลาลจากผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ยังจัด Business matching เพื่อขยายตลาดให้กับผู้ประกอบการ โดยมีประมาณการมูลค่าการเจรจาจับคู่ธุรกิจภายในงาน 200 ล้านบาท โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเสริมความเข้มแข็งและผลักดันการส่งออกสู่ตลาดโลกต่อไป
--------------------------------------
By: วัฒนรินทร
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น