ชาวเชียงดาวเตรียมเฮรับอ่างฯห้วยแม่มาศ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ แหล่งน้ำต้นทุนยกระดับคุณภาพชีวิต

ชาวเชียงดาวเตรียมเฮรับอ่างฯห้วยแม่มาศ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ แหล่งน้ำต้นทุนยกระดับคุณภาพชีวิต

     ​นายกฤตพล รชตเมธานนท์ นายอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้ก่อสร้างแหล่งกักเก็บน้ำให้ราษฎรตำบลปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เพื่อให้ราษฎรใช้เป็นแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภค บริโภค การเกษตรในช่วงหน้าแล้ง บรรเทาปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้ กรมชลประทานได้ดำเนินการ โครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น อ่างเก็บน้ำห้วยแม่มาศอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ ความจุเก็บกัก 2.57 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยได้จัดทำการมีส่วนร่วม ระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ ล่าสุดดำเนินการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการ และราษฎรผู้ใช้น้ำ ต.ปิงโค้ง มีความต้องการอ่างเก็บน้ำดังกล่าว


​      “อำเภอเชียงดาวมีพื้นที่ 2,100 ตารางกิโลเมตร หรือ 1.35 ล้านไร่ มีพื้นที่ป่าราว 1 ล้านไร่ พื้นที่การเกษตร 1.25 แสนไร่ ราษฎรในพื้นที่ส่วนใหญ่รวมถึงใน ต.ปิงโค้ง ประกอบอาชีพทำการเกษตรปลูกพืชไร่และพืชสวน โดยใช้แหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลักในการเพาะปลูก ทั้งนี้ โครงการฯ จะช่วยเก็บน้ำในช่วงหน้าฝนจากแหล่งน้ำธรรมชาติ คือ ลำห้วยแม่มาศ ไว้ใช้ยามแล้ง ทำให้ราษฎร ต.ปิงโค้ง และตำบลใกล้เคียงมีน้ำอุปโภคบริโภคตลอดปี เกษตรกรก็มีน้ำสำหรับการเพาะปลูกเพียงพอ ลดความเสี่ยงผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย สร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้คนในชุมชนได้เป็นอย่างดี” นายกฤตพล กล่าว

​          ทั้งนี้ อ่างฯ ห้วยแม่มาศ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำให้มีแหล่งน้ำต้นทุนเพียงพอต่อการปลูกไม้ผล ที่จะช่วยลดการเผาป่าเพื่อปลูกพืชไร่อันเป็นสาเหตุของปัญหาหมอกควันไฟป่าที่เกิดขึ้นเป็นประจำใน อ.เชียงดาว อีกด้วย โดยภาคราชการกำลังดำเนินการขับเคลื่อนให้เกษตรกรเปลี่ยนจากปลูกพืชไร่มาเป็นสวนผลไม้ เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง อโวคาโด ส้ม ลิ้นจี่ ลำไย ซึ่งจัดเป็นพืชเศรษฐกิจและเป็นที่ต้องการของตลาด หากดำเนินการสร้างอ่างฯ แล้วเสร็จ ก็จะมีแหล่งน้ำเพียงพอต่อเกษตรไม้ผล พร้อมกับปัญหาหมอกควันไฟป่าของเชียงใหม่ลดลง


         ด้าน ​นายมหิทธิ์ วงษ์ศา ผู้อำนวยการสิ่งแวดล้อม กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ดำเนินการด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เปิดโอกาสให้ประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2566 ณ เทศบาลตำบลปิงโค้ง ล่าสุดการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการฯ ได้นำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นต่อผู้ใช้น้ำ ต.ปิงโค้ง โดยผลประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการฯ มีดังนี้ 

1.ส่งน้ำให้พื้นที่ช่วงหน้าแล้งได้ 3,414 ไร่ ให้พื้นที่ฤดูฝนได้ 3,547 ไร่ 

2.เกษตรกรมีน้ำเพื่อการเพาะปลูกตลอดปี เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินด้านการเกษตรจากร้อยละ 99.36 เป็นร้อยละ 119.17 ส่งผลให้มูลค่าผลประโยชน์ทางการเกษตรเพิ่มขึ้น 8,565 บาทต่อครัวเรือนต่อไร่ 

3.ใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจ ส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวให้ชุมชน 

4.เป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการดับไฟป่า และช่วยรักษาระบบนิเวศน์ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำตามธรรมชาติ

     ​“ขณะนี้กรมชลประทานได้ดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 ที่มีข้อกำหนดว่า โครงการที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์เพิ่มเติมโซน C มีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ไร่ แต่ไม่เกิน 500 ไร่ ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น เพื่อเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม เพื่อคณะกรรมการชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากนั้นจึงขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ ต่อไป โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2569 แล้วเสร็จภายในปี 2572 ตามแนวพระราชดำริเพื่อประชาชนมีความมั่นคงทางด้านน้ำ และอาหารต่อไป” นายมหิทธิ์ กล่าวในตอนท้าย

                              ------------------------------

By: วัฒนรินทร

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

14 ปี กรมหม่อนไหม สืบสานภูมิปัญญา พัฒนาสู่ความยั่งยืน

สวก. เตรียมโชว์งานวิจัยเด่น 6 เมกะเทรนด์เปลี่ยนโลก 20 - 21 พ.ย.นี้ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ม.เกริกมอบโล่เกียรติคุณเชิดชูเกียรติ “นักการเมืองดีเด่นยอดเยี่ยม ประจำปี 2567”