เปิดตัวเรือดักเก็บขยะพลังแสงอาทิตย์ Interceptor 019 ดักขยะพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยา

เปิดตัวเรือดักเก็บขยะพลังแสงอาทิตย์ Interceptor 019 ดักขยะพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยา หวังแก้ปัญหาขยะทะเลสู่อ่าวไทย มุ่งสร้างแหล่งน้ำใสสะอาดให้ประเทศไทย


พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานในพิธีเปิดตัวเรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ (Interceptor) "Unveiling InterceptorTM 019: the new cleanup solution in the Chao Phraya River" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และองค์กร The Ocean Cleanup ผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้านการกำจัดขยะทะเล ร่วมด้วย กรุงเทพมหานคร เดอะโคคา-โคล่า คัมปะนี สถานเอกอัครราชทูตเนเธอแลนด์ประจำประเทศไทย บริษัท อีโคมารีน จำกัด บริษัท เอเซียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้โครงการวิจัยขยะพลาสติกในแม่น้ำ และการดักเก็บขยะพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อช่วยดักเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทย โดยมี นายแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน (H.E. Mr. Remco van Wijngaarden) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย  นางชญานันท์ ภักดีจิตต์ รองปลัดกระทรวงฯ และ นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมเป็นเกียรติในพิธี ณ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นจุดติดตั้ง Interceptor 019 นวัตกรรมสมัยใหม่ ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซลาร์เซลล์ (Solar power) สามารถเก็บขยะได้ถึง 50 ตันต่อวัน ทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง รองรับสภาพอากาศที่หลากหลาย ช่วยประหยัดกำลังคน และยังช่วยประหยัดพลังงานไปพร้อมกัน โดยขยะที่จัดเก็บได้จะนำไปศึกษาวิจัยปริมาณขยะพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป ทั้งนี้ แม่น้ำเจ้าพระยา ถือเป็น 1 ใน 5แม่น้ำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีเรือดังกล่าวมาปฏิบัติการ เพื่อร่วมแก้ไขปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกในแม่น้ำสายสำคัญทั่วโลก 



     "ในนามของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอขอบคุณในความร่วมมือของทุกภาคส่วน และขอชื่นชมในความมุ่งมั่นทุ่มเทในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการป้องกันการรั่วไหลของขยะพลาสติกจากแผ่นดินลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาก่อนไหลลงสู่ทะเล รวมทั้งมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมกิจกรรมเปิดตัวเรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ ลำที่ 19 ของโลก (Interceptor 019) ในวันนี้ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีในการบริหารจัดการขยะพลาสติกลอยน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะการแก้ไขปัญหามลพิษและปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากขยะพลาสติกต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจึงจะเกิดความยั่งยืนได้" พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าว

          ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูและรักษาสิ่งแวดล้อม เร่งแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นวาระแห่งชาติ เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ Interceptor 019 นี้จะช่วยสนับสนุนการทำงานเชิงรุกด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการจัดการปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทย ซึ่งเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการจัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 - 2573 ที่มุ่งเน้นการลดขยะพลาสติกจากต้นทาง ลดและเลิกใช้พลาสติก ด้วยการเปลี่ยนมาใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วันนี้จึงถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่ทุกคนจะได้ตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกในแหล่งน้ำ พร้อมเน้นย้ำว่า การดูแลสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อนำไปสู่การสร้างสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป

          ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โลกทั้งโลกเชื่อมกันด้วยสายน้ำ แต่สายน้ำก็นำพาขยะไปได้ด้วย หากเราไม่จัดการขยะที่ต้นทาง สุดท้ายขยะก็จะกองอยู่ในพื้นที่ส่วนกลางในมหาสมุทร สำหรับเรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์นี้ ไม่เพียงแต่มีประสิทธิภาพในการเก็บขยะเท่านั้น แต่ยังมีประสิทธิภาพในอีก 2 ด้าน คือ 1. แสดงให้เห็นถึงความสำคัญในการร่วมมือกัน เพราะไม่มีทางที่ใครคนใดคนหนึ่งจะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นได้ ทุกคนต้องร่วมมือกัน เช่นในครั้งนี้ก็เป็นความร่วมมือกันของทั้งภาครัฐและเอกชน และ 2. เป็นเครื่องเตือนใจว่าขยะทุกชิ้นมีเจ้าของ ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมในทิศทางที่ดีขึ้นด้วย กรุงเทพมหานครขอขอบคุณที่เลือกกรุงเทพฯ เป็นที่ติดตั้งของเรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ (Interceptor 019) และขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้ กทม.จะร่วมมือกับทุกคนในการทำสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นต่อไป 

          ทั้งนี้ การดูแลรักษาความสะอาด จัดเก็บขยะและวัชพืชในแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่การปฏิบัติงานตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงวัดโยธินประดิษฐ์ สุดเขตบางนา ระยะทางประมาณ 34 กิโลเมตร เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. โดยจะจัดเก็บทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำและกลางแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่เวลา 08.30 - 16.30 น. เป็นประจำทุกวัน อีกทั้งยังจัดกำลังเจ้าหน้าที่จัดเก็บวัชพืชและผักตบชวาเป็นพิเศษบริเวณสถานที่สำคัญ ๆ อาทิ หน้าวัดอรุณราชวราราม ท่าน้ำศิริราช เป็นต้น ซึ่งวัชพืชและขยะที่จัดเก็บได้จะนำไปขึ้นที่ท่าเรือ 3 แห่ง ได้แก่ ปากคลองบางกอกน้อย (ใต้สะพานอรุณอัมรินทร์) ใต้สะพานพุทธ (คลองโอ่งอ่าง) และใต้สะพานพระราม 9 (ฝั่งพระนคร) จากนั้นจะนำวัชพืชและขยะไปกำจัดที่สถานีกำจัดมูลฝอยหนองแขม

                               ----------------------------------

By: วัฒนรินทร

#MNRE #ทส. #เรือ #ขยะ #ขยะพลาสติก #สิ่งแวดล้อม

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

14 ปี กรมหม่อนไหม สืบสานภูมิปัญญา พัฒนาสู่ความยั่งยืน

สวก. เตรียมโชว์งานวิจัยเด่น 6 เมกะเทรนด์เปลี่ยนโลก 20 - 21 พ.ย.นี้ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ม.เกริกมอบโล่เกียรติคุณเชิดชูเกียรติ “นักการเมืองดีเด่นยอดเยี่ยม ประจำปี 2567”