มอบนโยบายด้านยางพารา ชูแนวคิด "อยู่ได้ พอใจ ยั่งยืน" พร้อม 7 นโยบายหลัก มุ่งประโยชน์ต่อยอดยางพาราทั้งระบบ
มอบนโยบายด้านยางพารา ชูแนวคิด "อยู่ได้ พอใจ ยั่งยืน" พร้อม 7 นโยบายหลัก มุ่งประโยชน์ต่อยอดยางพาราทั้งระบบ
ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังมอบนโยบายขับเคลื่อนยางพารา ภายใต้แนวคิดหลัก “อยู่ได้ พอใจ ยั่งยืน” พร้อมชู 7 นโยบายสำคัญเพื่อขับเคลื่อนยางพาราไทยสู่เอกภาพ มุ่งประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในระบบยางพารา โดยมีคณะผู้บริหารระดับสูงของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นำโดย นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย และตัวแทนพนักงานทุกสังกัด ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคทั่วประเทศ เข้ารับฟังนโยบาย ณ ห้องประชุมกันตัง กยท. สำนักงานใหญ่ โดยแนวทางการขับเคลื่อนยางพารา ยึดโยงหลักการสำคัญ 3 ประการ "อยู่ได้ พอใจ ยั่งยืน" กยท.จะมุ่งดำเนินการผลักดันมาตรการส่งเสริมเกษตรกรชาวสวนยางให้มีความเป็นอยู่ที่ดี สามารถหล่อเลี้ยงให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นำไปสู่การสร้างความพึงพอใจให้กับเกษตรกรฯ เช่น ราคายางที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น การลดต้นทุนการผลิต ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ซึ่งต่อจากนี้ กยท.จะเร่งหาแนวทางสร้างมาตรฐานยางในด้านต่างๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพและสร้างความยั่งยืนด้านยางพาราให้กับเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนต่อไป โดยได้กำหนด 7 นโยบายในการขับเคลื่อน หลักการสำคัญ 3 ประการให้สำเร็จตามเป้าหมาย ดังนี้
"อยู่ได้" โดยการ การสร้างปัจจัยการผลิตแบรนด์ กยท. เช่น น้ำกรด ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยเคมี โดยการใช้ปัจจัยการผลิตภายใต้แบรนด์ กยท. จะช่วยลดต้นทุนและสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง พร้อมทั้งติดอาวุธทางความรู้และเครื่องมือในการประกอบอาชีพให้เกษตรกรชาวสวนยาง โดยส่งเสริม ถ่ายทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ผ่านมาตรฐานวิชาชีพและมาตรฐานด้านต่างๆ ตอบสนองความต้องการของเกษตรกรฯ ในการนำมาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการสวนยางของตนเอง ส่งผลให้เกษตรกรฯ เกิดความ
"พอใจ" พร้อมมุ่งบริหารจัดการโรคใบร่วงอย่างจริงจัง โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนค้นคว้างานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่จะช่วยแก้ไขปัญหาโรคใบร่วงในยางพาราอย่างเป็นระบบ ขณะเดียวกัน กยท. จะเร่งออกโฉนดไม้ยางทุกพื้นที่ทั่วไทย โดย กยท.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับ ธ.ก.ส. เพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้กับเกษตรกรฯที่จะใช้โฉนดไม้ยางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อขอรับบริการสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เช่นเดียวกับไม้ยืนต้น 52 ชนิด ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการแปลงทรัพย์สินให้เป็นทุนสำหรับการประกอบอาชีพการทำสวนยางพร้อมปูมาตรการสู่ความ
"ยั่งยืน" โดยการสร้างตลาดยางมาตรฐานเดียวกัน 500 ตลาดทุกท้องถิ่นทั่วไทย รองรับ EUDR (Deforestation-free Product Regulation) โดยผลักดันระบบตลาดยางในประเทศให้พร้อมรองรับการตรวจสอบย้อนกลับตามมาตรการทางการค้าของสหภาพยุโรป ซึ่งปัจจุบันความต้องการใช้ยางของสหภาพยุโรปอยู่ที่ 4 ล้านตัน/ปี โดยมีเพียง 2 ประเทศที่มีระบบรองรับการตรวจสอบย้อนกลับยางพารา คือ แอฟริกา และประเทศไทย ในส่วนของประเทศไทยมียางที่รองรับการตรวจสอบย้อนกลับได้ตามาตรฐานยุโรปประมาณ 1 ล้านตัน/ปี ซึ่งภายในปีนี้ กยท.ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณยางดังกล่าวให้ได้ 2 ล้านตัน/ปี และอีกหนึ่งนโยบายที่มุ่งส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มของยางจากการแปรรูป โดยผลิตยางล้อแบรนด์ กยท. ร่วมกับภาคเอกชนเพื่อนำไปใช้ในหน่วยงานของภาครัฐ และต่อยอดไปถึงการส่งออกต่างประเทศ พร้อมทั้งสนับสนุนผลิตภัณฑ์ปลายน้ำของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางเน้นการทำตลาดแบบจริงจัง โดยนำวัตถุดิบยางพารามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น รองเท้าบู๊ท หมวกนิรภัย ทั้งนี้ จะช่วยดูดซับปริมาณผลผลิตยางออกจากตลาด 400,000 ตัน/ปี และช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราได้อย่างยั่งยืน
ดร.เพิก ยังได้มอบนโยบายการบริหารองค์กรและการจัดการบุคคลากรภายใน กยท. ว่า ต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของพนักงาน โดยส่งเสริมทักษะการทำงานแบบเชิงรุก เพื่อยกระดับทักษะที่เรา (Upskill) มีและสร้างทักษะที่จำเป็นกับการทำงานขึ้นมาใหม่ (Reskill) ควบคู่ไปกับการสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ส่งผลให้การดำเนินงานขององค์มีประสิทธิภาพมากขึ้น นำไปสู่การขับเคลื่อนงานด้านยางพาราให้บรรลุเป้าหมายและเกิดประโยชน์แก่ชาวสวนยางในที่สุด
"สำหรับการบริหารองค์กรให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ หัวใจสำคัญ คือการทำงานโดยได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ช่วยกันขับเคลื่อนบทบาทและภารกิจขององค์กรไปด้วยกัน จะทำให้เกิดเอกภาพในการทำงานและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ส่งผลให้บรรลุเป้าหมายที่สำคัญได้ในที่สุด" ดร.เพิก กล่าวทิ้งท้าย
-------------------------------
By: วัฒนรินทร
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น