ก.อุตสาหกรรมชี้อนาคตอุตสาหกรรมเหมืองแร่ไทยต้องยกระดับใน 5 ด้าน

ก.อุตสาหกรรมชี้อนาคตอุตสาหกรรมเหมืองแร่ไทยต้องยกระดับใน 5 ด้าน

     นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในการเป็นประธานเปิดงาน “Thailand Green and Smart Mining Forum 2024” และปาฐกถา ในเรื่อง “การบริหารจัดการแร่อย่างยั่งยืน ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2” ณ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี บางช่วงบางตอนระบุว่า รัฐบาลชุดนี้นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้ความสำคัญในเรื่องอุตสาหกรรมแร่อย่างมาก เช่นเดียวกับกระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งรัดการดำเนินการเรื่องเหมืองแร่โพแทช เพื่อให้ได้สารตั้งต้นในการผลิตปุ๋ยสำหรับใช้ในประเทศ สร้างดุลยภาพราคาปุ๋ยที่เหมาะสมลดภาระให้กับเกษตรกร รวมทั้งอีกหลายประเทศมีความต้องการสูงมาก ปัจจุบันมีประทานบัตรแล้ว 3 ราย ในนครราชสีมา ชัยภูมิ และอุดรธานี จะต้องเข้าสู่กระบวนการผลิตควบคู่กับการดูแลชุมชนโดยรอบด้วย ทั้งนี้ จุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ประเทศไทย เกิดขึ้นในปี 2560 เมื่อ พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ มีการกำหนดการบริหารจัดการแร่ให้เกิดดุลยภาพ ประชาชนในพื้นที่ทำเหมืองมีส่วนร่วมมากขึ้น มีการกระจายอำนาจการพิจารณาออกอาชญาบัตรสำรวจแร่ ประทานบัตรทำเหมือง ควบคู่กับการพัฒนาและส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญแผนแม่บทแร่ต้องทบทวนให้ทันสมัยทุกระยะ 5 ปี เป็นกรอบในการบริหารจัดการแร่ของประเทศ

     “สิ่งที่อยากเห็นจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในอนาคต คือการยกระดับใน 5 ประเด็นสำคัญ คือ 1. การมีข้อมูลพื้นฐานแร่ที่ครบถ้วนสมบูรณ์มากขึ้น การเร่งสำรวจแร่สำคัญที่มีความจำเป็นต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคพลังงานสะอาด 2. กลไกการอนุมัติ อนุญาต มีความสะดวกรวดเร็ว สามารถกำกับติดตามตรวจสอบได้อย่างทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง มุ่งสู่ Digital Government ตามนโยบายของรัฐบาล 3. สถานประกอบการเหมืองดำเนินการอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีมาตรฐานสูง มีการใช้เทคโนโลยีสีเขียว 4. มีการวิจัยพัฒนานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมและการใช้ประโยชน์จากแร่  และ 5. มีการเสริมสร้างตระหนักรู้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ในพื้นการบริหารจัดการแร่  ซึ่งในทิศทางนี้เชื่อว่าจะสร้างความมั่นคงให้กับทรัพยากรแร่ ขณะเดียวกันสามารถพัฒนาแร่ได้อย่างยั่งยืน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมีความคาดหวังสูงมาก และจะต้องนำไปสู่จุดนั้น คือ เหมืองแร่ในประเทศไทยทุกแห่งจะเป็นเหมืองแร่ที่อยู่บนหลักธรรมาภิบาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นเหมืองแร่ของประชาชนอย่างแท้จริง" นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

                           ----------------------------

By: วัฒนรินทร 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

14 ปี กรมหม่อนไหม สืบสานภูมิปัญญา พัฒนาสู่ความยั่งยืน

สวก. เตรียมโชว์งานวิจัยเด่น 6 เมกะเทรนด์เปลี่ยนโลก 20 - 21 พ.ย.นี้ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ม.เกริกมอบโล่เกียรติคุณเชิดชูเกียรติ “นักการเมืองดีเด่นยอดเยี่ยม ประจำปี 2567”