DITP เผยอินเดียยกเว้นภาษีนำเข้าถั่วลันเตาสีเหลือง ชี้เป็นโอกาสไทยส่งออก

DITP เผยอินเดียยกเว้นภาษีนำเข้าถั่วลันเตาสีเหลือง ชี้เป็นโอกาสไทยส่งออก

     นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯ ได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทำการสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ และให้รายงานผลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับรายงานจาก นางสาวสัญฉวี พัฒนจักร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครมุมไบ อินเดีย ถึงกรณีที่รัฐบาลอินเดียออกมาตรการยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าถั่วลันเตาสีเหลือง ที่จะมีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือ Official Gazette (ประกาศ ณ วันที่ 8 ธันวาคม 2566) และโอกาสในการส่งออกสินค้าดังกล่าวของไทยเข้าสู่ตลาดอินเดีย โดยทูตพาณิชย์ได้รายงานข้อมูลเพิ่มเติมว่าการดำเนินการในครั้งนี้ของรัฐบาล มีวัตถุประสงค์เพื่อเข้าแทรกแซงราคาและปรับสมดุลราคาในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์จำพวกพืชตระกูลถั่ว เพราะอินเดียเป็นตลาดผู้บริโภคและผู้ผลิตรายใหญ่ของพืชตระกูลถั่ว แต่ผลผลิตไม่เพียงพอ ทำให้มีความต้องการนำเข้า ซึ่งสมาคมพ่อค้า Tamil Nadu Foodgrains เอง ก็ได้ใช้โอกาสนี้ ยื่นเรื่องขยายเวลาการนำเข้าออกไปอีกจนถึงเดือนมิถุนายน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด เพราะการยกเว้นภาษี มีระยะเวลาที่จำกัด การสั่งซื้อ การนำเข้า ระบบโลจิสติกส์ในภาพรวมต้องใช้เวลานาน ทั้งนี้ สมาคมดังกล่าวยังได้ดำเนินการขออนุญาตยกเว้นภาษีนำเข้าถั่วจากออสเตรเลียเพิ่มเติม ซึ่งหากได้รับการอนุญาต โรงงานคัดแยก โรงงานสีถั่วในเขตเมืองเกรละ กรกนาฎกะ ทมิฬนาฑู จะสามารถแปรรูปผลผลิตถั่วได้ ส่งผลให้โรงงานกลับเข้าสู่ระบบปฏิบัติการได้อีกครั้ง เพราะตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา โรงงานสีถั่วได้ปิดกิจการ เนื่องจากการจำกัดการนำเข้าของพืชตระกูลถั่ว ซึ่งการอนุญาตในครั้งนี้ จะส่งผลให้โรงสีกว่า 2,000 แห่ง กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 100,000 ตำแหน่ง

         สำหรับโอกาสของไทย พบว่าตลาดถั่วลันเตาสีเหลืองในอินเดียจะเป็นตลาดใหม่สำหรับผู้ส่งออกของไทย ที่จะสามารถจำหน่ายสินค้าโดยปราศจากภาษีอากรขาเข้า เพราะไทยมีความได้เปรียบทางการแข่งขัน จากการมีประสบการณ์ในการผลิตและส่งออกสินค้าพืชผลทางการเกษตรอยู่แล้ว แต่ก็ต้องระวังในเรื่องการแข่งขันที่จะสูงขึ้น จากการเลิกภาษีอาการ ที่ทำให้คู่แข่งอื่น ๆ สนใจตลาดนี้เช่นเดียวกันรวมทั้งจะมีความผันผวนด้านราคา ที่จะมีการแข่งขันกันมากขึ้น

     “ในภาพรวมการประกาศยกเว้นภาษีอากรของถั่วลันเตาสีเหลืองในครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มโอกาสและสร้างแต้มต่อทางการค้าและการขยายตลาดของผู้ประกอบไทยที่ส่งสินค้าเกี่ยวข้องกับถั่วลันเตาสีเหลือง ซึ่งเป็นสินค้าผู้เล่นตัวใหม่สำหรับตลาดคนรักสุขภาพในวงการตลาดน้ำนมพืช ด้วยค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ทำให้เหมาะกับการบริโภคของผู้ป่วยเบาหวาน และผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก โดยผู้ประกอบไทยควรศึกษาและปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อการนำเข้า การติดฉลาก และมาตรฐานที่จำเป็นในการส่งออกสู่ตลาดอินเดียก่อนที่จะทำการส่งออกด้วย” นายภูสิต กล่าว

           ปัจจุบัน ตลาดอินเดียบริโภคถั่วลันเตาสีเหลือง (HS code 07131010) ประมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี สามารถผลิตได้เพียง 500,000–600,000 ตันต่อปี ส่งผลให้อินเดียต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าถั่วลันเตาสีเหลือง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการภายในประเทศ โดยประเทศที่อินเดียนำเข้า 3 อันดับแรก ได้แก่ แคนาดา รัสเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในขณะที่ประเทศไทย ตลาดส่งออกถั่วลันเตาสีเหลืองยังมีผู้เล่นไม่มากนัก ในปี 2565 การส่งออกสินค้าถั่วลันเตาสีเหลือง มูลค่า 23,977.40 เหรียญสหรัฐ และในปี 2566 (ม.ค.-ต.ค.) ส่งออกมูลค่า 81,837.74 เหรียญสหรัฐ ซึ่งมีประเทศส่งออกสำคัญตามส่วนแบ่งตลาดได้แก่ ญี่ปุ่น ร้อยละ 50.51 ฮ่องกง ร้อยละ 31.75 สิงคโปร์ ร้อยละ 15.94 และมาเลเซีย ร้อยละ 1.80

          สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169

                              --------------------------------

By: วัฒนรินทร

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

14 ปี กรมหม่อนไหม สืบสานภูมิปัญญา พัฒนาสู่ความยั่งยืน

สวก. เตรียมโชว์งานวิจัยเด่น 6 เมกะเทรนด์เปลี่ยนโลก 20 - 21 พ.ย.นี้ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ม.เกริกมอบโล่เกียรติคุณเชิดชูเกียรติ “นักการเมืองดีเด่นยอดเยี่ยม ประจำปี 2567”