ก.ยุติธรรมจับมือ กยศ.และสถาบันการเงิน 23 แห่ง เปิดเวที “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ครั้งที่ 1

ก.ยุติธรรมจับมือ กยศ.และสถาบันการเงิน 23 แห่ง เปิดเวที “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ครั้งที่ 1

     พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงาน"มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม ครั้งที่ 1" ณ หอประชุมรักตะกนิษฐ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กรุงเทพมหานคร ว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เดินหน้าแก้ปัญหาหนี้สินทั้งระบบให้กับประชาชนทุกกลุ่มทั้งภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน โดยการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบของรัฐบาลครั้งนี้ ได้กำหนดแนวทางในการดำเนินการอย่างชัดเจน และบูรณาการการทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้เป็นไปอย่างยั่งยืน และไม่กลับมาเป็นหนี้ซ้ำอีก โดยนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 กำหนดกรอบในการแก้ไขปัญหาที่จะเร่งดำเนินการ คือ แก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน โดยรัฐบาลจะลดภาระพี่น้องเกษตรกรด้วยการพักหนี้เกษตรกรตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม รวมถึงมาตรการช่วยเหลือประคองภาระหนี้สินและต้นทุนทางการเงินสำหรับภาคประชาชนที่ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ให้ได้มีโอกาสในการฟื้นฟูและกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง ทั้งนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนทุกภาคส่วนเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น กระทรวงยุติธรรมจึงได้จัดงาน “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ขึ้น โดยมอบหมายให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และกรมบังคับคดีผนึกความร่วมมือกับ สถาบันการศึกษา กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงิน 23 แห่ง  ประกอบด้วย  1. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)  2. บรรษัทประกันสินชื่ออุตสาหกรรมขาดย่อม  3. ธนาคารออมสิน 4. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)  5. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 6. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME) 7. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 8. ธนาคารทหารไทยธนชาติ จำกัด (มหาชน) 9. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 10. ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) 11. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 12. บริษัท กรุงศรีคอนซูเมอร์ จำกัด 13. ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) 14. บริษัทเจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) 15. ตะวันออกพาณิชย์ลีชซิ่ง จำกัด (มหาชน) 16. บริษัท อีซี่บาย จำกัด (มหาชน) 17. บริษัทบริหารทรัพย์สิน กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) 18. บริษัทจำกัดบริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท (SAM) 19. บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 20. บริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) 21. บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) 22. บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) 23. บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ในการร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งก่อนฟ้อง และหลังศาลพิพากษาด้วยการไกล่เกลี่ยตามที่มีกฎหมายของหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรมรับผิดชอบ เพื่อให้ประชาชนที่เป็นหนี้กองทุนเงินให้กู้เพื่อการศึกษา ลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต เช่าซื้อ ลิสซิ่ง ที่ผิดนัดชำระหนี้เข้าเกณฑ์จะถูกฟ้องดำเนินคดี หรือไม่มีกำลังผ่อนชำระตามสัญญา ได้รู้สิทธิตามกฎหมาย เข้าถึงความยุติธรรม รวมถึงสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับการวางแผนและสร้างวินัยทางการเงินให้แก่ประชาชนเป็นเกราะป้องกันปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนและให้ประชาชนที่มีหนี้สินสามารถฟื้นฟูและกลับมาเริ่มต้นใหม่ได้เร็ว รวมทั้งลดปัญหาความขัดแย้ง หรือข้อพิพาท เพื่อให้เป้าหมายการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของรัฐบาล ที่จะลดหนี้ภาพรวมให้ลดลงอยู่ในระดับที่ยั่งยืนหรือต่ำกว่า 80% ต่อจีดีพีประสบความสำเร็จ ซึ่งจะช่วยสร้างเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศและสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทยต่อไป

          โดยการเปิดเวทีในครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ก่อนฟ้อง/หลังคำพิพากษา และสถาบันการเงิน กยศ. ในเบื้องต้นมี ชั้นก่อนฟ้องคดี จำนวนกว่า 260,000 ราย ทุนทรัพย์กว่า 59,000 ล้านบาท ชั้นหลังคำพิพากษา จำนวนกว่า 172,000 ราย ทุนทรัพย์กว่า 49,000 ล้านบาท  ที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรม โดย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และ กรมบังคับคดี จัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน ทั้ง 76 จังหวัด โดยสามารถช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่ประชาชนไปแล้ว โดยในชั้นก่อนฟ้องคดีช่วยเหลือลูกหนี้ไม่ให้ถูกฟ้องคดีต่อศาล จำนวน 44,735 ราย ทุนทรัพย์ จำนวน 5,810.5 ล้านบาท และในชั้นหลังศาลมีคำพิพากษา ช่วยเหลือลูกหนี้ไม่ให้ถูกยึดทรัพย์และอายัดทรัพย์ จำนวน 25,632 ราย ทุนทรัพย์ จำนวน 331.8 ล้านบาท  ทั้งนี้ กระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้แก่ลูกหนี้ที่ต้องการความช่วยเหลือ เป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ซึ่งมี 3 หลักการ คือ ทำครบวงจร ทำให้ตรงจุด และทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน โดย ทำครบวงจร ก็คือวงจรของหนี้ ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ ขณะเป็นหนี้ และเป็น “หนี้เสีย” แล้ว ซึ่งกระทรวงยุติธรรมจะมีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพที่คอยสนับสนุนให้เกิดการไกล่เกลี่ยตาม พ.ร.บ.การไกล่เกลี่ยภาคประชาชน พ.ศ.2562 ผ่านการดำเนินงานของ ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนที่มีอยู่ทั่วประเทศ โดยเป็นการไกล่เกลี่ยคดีอาญา และคดีแพ่ง ทั้งที่กำลังจะขึ้นสู่ศาล หรือขึ้นสู่ศาลแล้ว หรืออาจจะตัดสินแล้ว

    “ในปี 2567 นี้กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และกรมบังคับคดียังคงเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับสถาบันการศึกษา กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินกว่า 23 แห่ง จัดงาน "มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม" ขึ้น เพื่อให้ประชาชนที่เป็นหนี้กองทุนเงินให้กู้เพื่อการศึกษา ลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต ที่ผิดนัดชำระหนี้ เข้าเกณฑ์จะถูกฟ้องดำเนินคดี  หรือไม่มีกำลังผ่อนชำระตามสัญญา ได้รู้สิทธิตามกฎหมายและเข้าถึงความยุติธรรม รวมถึงสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับการวางแผน และสร้างวินัยทางการเงินให้แก่ประชาชน เพื่อเป็นเกราะป้องกันปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน” พันตำรวจเอกทวี กล่าวย้ำ

         สำหรับแผนการจัด “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมบังคับคดี และสถาบันการเงินร่วมมือกันจัดงาน โดยกำหนดมหกรรมครั้งที่ 1 ในระหว่างวันที่ 27-28 มกราคม 2567 ณ หอประชุมรักตะกนิษฐ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำหรับในส่วนภูมิภาคกำหนดการจัดมหกรรมทุกจังหวัดทั่วประเทศ คาดว่าจะดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 จึงขอเชิญชวนประชาชนที่มีคดีก่อนฟ้อง และหลังศาลมีคำพิพากษา ที่เป็นลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ หนี้บัตรเครดิต และหนี้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ร่วมงาน “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ในระหว่างเดือนมกราคม - เมษายน 2567  โดยประชาชนที่มีความสนใจและประสงค์จะเข้าร่วมงานมหกรรมสามารถติดต่อผ่านช่องเว็บไซต์กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมบังคับคดี และสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทั่วประเทศ โดยลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ลิงค์ https://uat.led.go.th/qcard/schedule/2567/10.asp หรือสอบถามผ่าน สายด่วนยุติธรรม โทร 1111 กด 77 และสายด่วนกรมบังคับคดี โทร 1112 กด 79 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมงหรือ โทร 0 2141 2773 , 0 2141 2767 , 0 2141 2777 และ 08 1763 9156  

                            -------------------------

By: วัฒนรินทร

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

14 ปี กรมหม่อนไหม สืบสานภูมิปัญญา พัฒนาสู่ความยั่งยืน

สวก. เตรียมโชว์งานวิจัยเด่น 6 เมกะเทรนด์เปลี่ยนโลก 20 - 21 พ.ย.นี้ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ม.เกริกมอบโล่เกียรติคุณเชิดชูเกียรติ “นักการเมืองดีเด่นยอดเยี่ยม ประจำปี 2567”