กรมพัฒนาที่ดิน ชูผลงานวิจัยชนะเลิศ ปลูกมะคาเดเมียผสมพืชไร่ฯ บ้านห้วยน้ำขาว
กรมพัฒนาที่ดินชูผลงานวิจัยชนะเลิศ ปลูกมะคาเดเมียผสมพืชไร่ฯ บ้านห้วยน้ำขาว
นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า เนื่องจากในพื้นที่บ้านห้วยน้ำขาว ตำบลเข็กน้อย อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นพื้นที่สูง อีกทั้งเป็นต้นน้ำเข็กมีการใช้ที่ดินด้านการเกษตร และที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ขาดสิ่งปกคลุมดิน เกิดการชะล้างพังทลายของดินเมื่อฝนตก นอกจากนั้นน้ำที่ไหลบ่าหน้าดินจะทำให้เกิดการชะล้างพังทลายของดินรุนแรงมากขึ้น หน้าดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ดังนั้น เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างยั่งยืน จึงได้มีการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการวิจัยหามาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสม ภายใต้หัวข้อ “การศึกษาปริมาณการสูญเสียดินและน้ำไหลบ่าในพื้นที่สูง จากการปลูกมะคาเดเมียผสมพืชไร่ร่วมกับมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ” คณะผู้วิจัย ประกอบด้วย นายบุญเดี่ยว บุญหมั้น นักวิชาการเกษตรชำนาญการ , นายสาธิต กาละพวก นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 8 และนางสาวศศิธร วิสัย นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5“จากผลการวิจัยได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ และสามารถนำองค์ความรู้ไปแก้ปัญหาด้านการจัดการทรัพยากรดินและที่ดินของเกษตรกรในพื้นที่บ้านห้วยน้ำขาวเป็นอย่างดี ดังนั้น กรมพัฒนาที่ดินจึงคัดเลือกให้ได้รับรางวัลชนะเลิศภาคบรรยาย สาขาอนุรักษ์ดินและน้ำ ในการประชุมวิชาการประจำปี 2566 “พื้นฟูปฐพีสร้างสรรค์ดินดีด้วยเทคโนโลยีพัฒนาที่ดิน” ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 4 – 6 กันยายน ณ โรงแรมเดอะกรีนเนอรี่ เขาใหญ่ ทั้งนี้ กรมพัฒนาที่ดินถือว่าการอนุรักษ์ดินและน้ำเป็นการวิจัยที่ท้าทาย เพราะเป็นประเด็นที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน หากไม่ดำเนินการอาจส่งผลเสียต่อทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งคุณภาพชีวิตเกษตรกร ตามวิสัย องค์กรอัจฉริยะทางดินที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสม 15 ล้านไร่ ภายในปี 2570 ” อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าว
ด้าน นายบุญเดี่ยว บุญหมั้น นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กล่าวว่า ได้ดำเนินการวิจัยระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ.2561 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ.2564 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสมบัติของดิน ปริมาณการสูญเสียดินและน้ำไหลบ่า การเจริญเติบโตของมะคาเดเมีย และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจากการทำมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำบนพื้นที่สูง โดยวางแผนการทดลองแบบสุ่มในบล็อกสุ่มสมบูรณ์ จำนวน 5 ตำรับการทดลอง 4 ซ้ำ ได้แก่
1) ปลูกมะคาเดเมียร่วมกับข้าวไร่ และไม่มีระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ
2) ปลูกมะคาเดเมียร่วมกับข้าวไร่ และมีคูรับน้ำขอบเขา
3) ปลูกมะคาเดเมียร่วมกับข้าวไร่ มีคูรับน้ำขอบเขาและแถบหญ้าแฝก
4) ปลูกมะคาเดเมียร่วมกับถั่วแดงหลวง มีคูรับน้ำขอบเขาและแถบหญ้าแฝก และ
5) ปลูกมะคาเดเมียร่วมกับถั่วพุ่ม มีคูรับน้ำขอบเขาและแถบหญ้าแฝก
สำหรับผลการศึกษาวิจัยการปลูกมะคาเดเมียร่วมกับถั่วแดงหลวง มีคูรับน้ำขอบเขาและแถบหญ้าแฝก หลังการทดลองปีที่ 3 จะมีปริมาณอินทรียวัตถุปริมาณสูงสุด 2.25 % ขณะที่การปลูกมะคาเดเมียร่วมกับข้าวไร่ มีคูรับน้ำขอบเขา หลังการทดลองปีที่ 2 มีปริมาณการสูญเสียดินน้อยสุด 8.70 ตันต่อไร่ต่อปี และการปลูกมะคาเดเมียร่วมกับข้าวไร่ มีคูรับน้ำขอบเขาและแถบหญ้าแฝก หลังการทดลองปีที่ 2 มีปริมาณน้ำไหลบ่าต่ำสุด 325.17 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ เนื่องจากอิทธิพลของฝน มาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ ชนิดและช่วงเวลาของการเพาะปลูกพืช
“สำหรับการเจริญเติบโตของมะคาเดเมีย พบว่า การปลูกมะคาเดเมียร่วมกับถั่วแดงหลวง มีคูรับน้ำขอบเขาและแถบหญ้าแฝกในปีที่ 3 มีความสูงสูงสุด 127.25 เซนติเมตร และการปลูกมะคาเดเมียร่วมกับข้าวไร่ มีคูรับน้ำขอบเขาและแถบหญ้าแฝก มีการสูญเสียธาตุอาหารต่ำสุด 24.27 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจพบว่าการปลูกมะคาเดเมียร่วมกับถั่วพุ่ม มีคูรับน้ำขอบเขาและแถบหญ้าแฝก หลังการทดลองปีที่ 3 มีต้นทุนผันแปรต่ำสุด 4,080 บาทต่อไร่” นายบุญเดี่ยว กล่าว
--------------------------
By : วัฒนรินทร
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น